ไฟฟ้าแสงอาทิตย์ วิถีที่มั่นคง...ยั่งยืน

ทั้ง...สงครามทางการค้า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน กำลังจะกลับมาเป็นปัจจัยหลักกระทบเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง และประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเรื่องของ “พลังงาน” ที่เน้นไปที่ พลังงาน “ฟอสซิล” เป็นหลัทั้งเรื่องของการคมนาคมขนส่ง เรื่องของพลังงานในครัวเรือน และเรื่องของ “พลังงาน” ในภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
แน่นอนว่า ภาวะผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจและการเมืองดุลอำนาจของโลก กำลังอยู่ในภาวะไม่แน่นอน โดยเฉพาะเทรดวอร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องของพลังงาน เรื่องของราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือต้นทุนต่างๆ ของพลังงาน
ส่งผลกระทบต่อประเทศเล็กๆอย่างประเทศไทย ที่แม้จะผลิตได้เองบางส่วน แต่ก็ยังเป็นประเทศที่ดูเหมือนต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่...ดังนั้น แผนการด้าน “พลังงานสำรอง-พลังงานทางเลือก” ที่เคยมีบทบาทสูง และเป็น “เทรนด์” ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ และเงียบหายไปพร้อมกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ก็ย่อมจะต้องถูกหยิบยกเอามาพูด...เอามาปัดฝุ่นกันใหม่
ที่ผ่านมา...เรื่องของพลังงานทดแทนจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ภายใต้ผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนของวัตถุดิบในด้านการผลิตพลังงาน “ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซธรรมชาติ” ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากปัญหาเกี่ยวกับสงครามการค้า ความขัดแย้งของมหาอำนาจ และเรื่องของ “ภาวะเศรษฐกิจโลกช่วงขาลง” ส่งผลกระทบไปแทบจะทุกภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รัฐเตรียมท่าจะขึ้นค่าไฟฟ้า อันเป็นผลกระทบโดยตรงกับการเพิ่มภาระให้กับประชาชน และกลายเป็นกระแสเรียกร้องถึงการกลับมาของ “พลังงานทดแทน” ซึ่งถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด “พลังงานทางเลือก” เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะพลังงานทดแทนที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกนั้น เป็นพลังงานที่อยู่รอบๆตัว ที่ได้มาแบบฟรีๆ โดยไม่ต้องซื้อต้องหา แถมยังขายได้อีกด้วย ทั้งไฟฟ้า แสงแดด แต่จะมีพลังงานทางเลือกอย่างอื่นที่น่าสนใจมากกว่านี้อีกหรือไม่? ยังคงต้องพัฒนากันต่อไป “เทรนด์พลังงาน” ที่หลายคนเริ่มกลับมาให้ความสนใจ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปหลากหลายมิติ ถึงจะมีความแตกต่างจากในอดีต แต่ รูปแบบจะยังคงเดิม
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวไว้ว่า แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ นอกจากหลักการสำคัญเป็นการจัดหาไฟฟ้าระยะยาวของประเทศแล้ว ยังรวมไปถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งพลังงานทดแทนต่างๆที่กำลังเข้ามา มีบทบาทสำคัญ สืบเนื่องจากนับวันเรายิ่งมีการใช้พลังงานมากขึ้นทุกขณะ โดยมีแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ประมาณ 20% ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริม ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เสริมว่า แผนการด้านพลังงานทดแทนและการใช้เทคโนโลยีเข้ามา มีส่วนร่วมกับเรื่องของพลังงานทดแทนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดโครงการหนึ่งคือเรื่องของนโยบายสมาร์ทซิตี้ ที่ถูกพัฒนาสู่การผลิตพลังงานใช้เองใน ครัวเรือน ซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี... เดิมจะมีการพูดถึงกันในส่วนของพลังงานชีวมวลและชีวภาพที่จะมาเป็นแกนหลักสำหรับการผลิตพลังงานทดแทน แต่ตอนนี้เรื่องของพลังงานแสงแดด หรือโซลาร์เซลล์กำลังเป็นที่จับตามอง เพราะปัจจุบันมีต้นทุนที่ถูกลงมาก แม้บางคนอาจมองว่าเป็นพลังงานที่ไม่ได้มาอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีความเหมาะสมกับภูมิศาสตร์ประเทศไทยเป็นอย่างมาก และยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง
“เดิมเรื่องของพลังงานโซลาร์เซลล์จะมีต้นทุนสูงในเรื่องของแบตเตอรี่ ซึ่งเวลานี้กำลังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ราคาก็เริ่มถูกลงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนภาพของพลังงานทดแทนของประเทศ สอดคล้องกับการลดการเกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งในระยะยาวทุกคนจะสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ จะทำให้เกิดการลดต้นทุนพลังงาน ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากสายส่ง และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ก็จะทำให้พลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีการใช้พลังงานทดแทนมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพล ว่า กรณีตัวอย่าง...“โรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาดเท่านั้น นี่คือ โจทย์หลักสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ตั้งไว้” คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) บอกอีกว่า นี่คือหัวใจสำคัญในแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุนและการอพยพเข้ามาทำงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เป็นโครงการที่จะเริ่มตั้งแต่ ปี 2564 และนำร่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วงเฟสแรก ที่ 500 เมกะวัตต์ก่อน โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นหน่วยงาน หลักในการรับซื้อและจำหน่าย
ขณะเดียวกัน ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มาร่วมออกแบบระบบ พร้อมวางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อระบบพลังงานจากแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30 คำถามสำคัญมีว่า...แล้วพลังงานแสงอาทิตย์ 30 เปอร์เซ็นต์ จะมีเพียงพอกับความต้องการใช้หรือไม่ คำตอบสั้นๆจากเลขาฯ กพอ.คือ “เพียงพอ” แม้เป้าหมายสำคัญคือการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการใช้ในพื้นที่ แต่สิ่งแวดล้อมที่ดีจะต้องกลับคืนมาด้วย เพราะในวันนี้ประชาชนในพื้นที่ต่างทราบกันดีว่า ได้รับผลกระทบจาก กระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิมอย่างไร โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อันนำมาซึ่งปัญหามลภาวะและมลพิษ รวมถึงการเกิดภาวะโลกร้อน พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ระยะเวลา 30 ปี จะช่วยลดการปล่อย CO2ได้ถึง 11 ล้านตัน
อีกประเด็นสำคัญที่น่าสนใจและถือเป็นการพัฒนาที่ไม่ธรรมดา เพราะครั้งแรกของการลงทุนด้านไฟฟ้าที่สามารถทำควบคู่ไปกับวิถีชีวิตความเป็นเกษตรกรของประชาชนในพื้นที่คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้สามารถอยู่ร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่เราต้องการให้เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนา พลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่เดิม นั่นก็คือ...การพัฒนา “พลังงานแสงอาทิตย์” แบบผสมผสานร่วมกับการทำ “การเกษตร” ในพื้นที่เดิมตามสัดส่วนที่เหมาะสม “พลังงานทดแทน” นโยบายสะท้อนวิชันความเป็นชาติก้าวหน้าด้านพลังงาน ตอกย้ำวิสัยทัศน์ทิศทางการพัฒนาประเทศที่มั่งคั่ง ยั่งยืนในอนาคต.
ที่มา
https://www.thairath.co.th/news/local/1867393

ONE POWER PUBLIC COMPANY LIMITED

9/279 ซอยรัชประชา 1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครฯ 10900
02-587-5656

One Power Co.,Ltd © 2020