เมืองคาร์บอนต่ำคืออะไร...แล้วเราจะเริ่มได้อย่างไร?
ในปี 2050 มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า จะมีคนกว่า 6,200 ล้านคน เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ของประชากรโลกทั้งหมด และจะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึง 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
จากตัวเลขเราคงพอจะเห็นแล้วว่า เมืองจึงควรให้ความสำคัญและควรมีบทบาทอย่างยิ่งในการลดคาร์บอน เพราะหากเราปล่อยปละละเลย ในปี 2050 ภาวะโลกรวนก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ประชากรได้รับความเสี่ยงจากพายุ หรือแผ่นดินไหวในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านคน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมที่รุนแรงจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและดินทรุดตัว จะก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ถึงแม้เมืองจะเผชิญความเสี่ยงของภัยพิบัติที่มากขึ้น แต่เมืองก็มีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ นี้ได้ “เมืองคาร์บอนต่ำ” จึงเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายควรพุ่งเป้ามากที่สุด
เมืองคาร์บอนต่ำเป็นเมืองที่มีเป้าหมายที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การที่คนมาอยู่รวมกันในเมืองทำให้เกิดข้อดีหลายด้าน เช่น มาตรการการประหยัดด้วยปริมาณ (economy of scale), การลงทุนสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ มีความคุ้มค่ามากขึ้นจากการที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และการที่สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันต่างๆ อยู่ใกล้กัน ก็สามารถช่วยลดการใช้พลังงานที่เกิดจากการเดินทางได้ เป็นต้น
เมืองจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดคาร์บอน โดยเริ่มจากจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้รู้ว่าปัจจุบันแต่ละภาคส่วนมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด และเมื่อรู้แล้วว่าส่วนไหนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป เช่น
• การออกมาตรการหรือกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม
• การลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ
• การเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
• การสร้างความตระหนักรู้ของคนในเมือง
อาคารบ้านเรือนที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองปัจจุบันมักเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของอาคารมีมากขึ้น ซึ่งวิธีลดคาร์บอนของอาคาร นั่นก็คือ
• การออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า
• การเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
สำหรับอาคารสร้างใหม่ต้องเลือกใช้วัสดุคาร์บอนต่ำมากขึ้น เช่น เลือกใช้ไม้หรือคอนกรีตที่ผลิตด้วยกระบวนการคาร์บอนต่ำ
ส่วนด้านการเดินทาง เมืองต้องมีการวางผังที่เอื้อให้คนเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สามารถเดินหรือขี่จักรยานได้ และมีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม รวมทั้งราคาเอื้อมถึงได้
จะเห็นได้ว่า เมืองเป็นทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งทำงาน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งคงจะดีไม่น้อย ถ้าเราทุกคนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ในเมือง และยังสามารถช่วยลดคาร์บอน เพื่ออนาคตของเราได้อีกด้วย
เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส RISC